หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
Bangkok Train
20:12 - 30 ธันวาคม 2562 (แก้ไขล่าสุด 22:06 - 30 ธันวาคม 2562)

 

 

รถรางในยุคแรกที่สั่งเข้ามาในเมืองไทยนั้น เป็นรถรางชนิดลากจูงด้วยแรงม้า ผู้ที่ต้นคิดนำเข้ามา เป็นกลุ่มวิศวกรชาวเดนมาร์ก ประกอบด้วย นายจอห์น ลอฟตัส นายอาร์ คิว เปลซีเดอ รีชเชอริว และนายเวสเตน โฮลส์ ได้ร่วมทุนการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา เมื่อแรกเริ่มก่อนดำเนินการได้มีการสำรวจจำนวนผู้คนที่เดินทางทางไปมาตามย่านถนนสายสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อจะดูว่าจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ผลปรากฏว่า ถนนเจริญกรุงเป็นย่านเศรษฐกิจที่เจริญอยู่ใจกลางเมืองและผู้คนสัญจรมากที่สุด และเป็นที่รู้จักของคนต่างชาติ 

ดังนั้น กลุ่มชาวเดนมาร์กกลุ่มนี้จึงทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งบริษัทและขอสัมปทานเดินรถรางต่อรัชกาลที่ ๕ หลังจากนั้นทางบริษัทได้เริ่มวางรางรถนับตั้งแต่หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง แล้วอ้อมไปตามเส้นทางถนนเจริญกรุง จนถึงบางคอแหลมหรือถนนตกในปัจจุบัน โดยทางบริษัทได้ทำพิธีเปิดให้รถรางวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๓๑ นับว่าเป็นรถรางคันแรกของเมืองไทยและในแถบภูมิภาคเอเชีย รถรางที่วิ่งในระยะแรกนั้นใช้แรงม้าลากจูง เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยใช้เทียมม้า ๖ ตัว แล้วลดลงมาเหลือ ๔ ตัว แต่ก็พบอุปสรรค เนื่องจากม้าแต่ละตัวไม่พร้อมใจกัน ทำให้ฉุดกระชากลากไปคนละทาง ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นเทียมม้าคู่ การประกอบกิจการในสมัยเริ่มแรกนั้น ต้องประสบปัญหานานานับประการ เนื่องจากสภาพการคมนาคมในกรุงเทพฯสมัยนั้นยังด้อยพัฒนา พื้นถนนส่วนใหญ่เป็นดินโคลนเป็นหลุมเป็นบ่อ และเต็มไปด้วยสะพานข้ามคลองที่สูงชันมากมาย จึงต้องสำรองม้าไว้ตามจุดต่าง ๆ และที่เชิงสะพาน สำหรับผลัดเปลี่ยนรางจูงเป็นระยะๆ นับเป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางของผู้คนสมัยนั้นมาก 

รถรางคันแรกนี้วิ่งอยู่ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ต้องประสบปัญหาภาวะขาดทุน เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อย ทั้งที่ค่าโดยสารรถรางถูกกว่ารถโดยสารชนิดอื่น ๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับนิยมรถลาก เพราะสามารถไปรับส่งถึงที่และสะดวกกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการชุดนี้ จึงโอนกิจการให้กับบริษัทรถรางกรุงเทพฯ ทุนจำกัด ซึ่งเป็นของอังกฤษรับช่วงดำเนินการต่อไป แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักเช่นกัน จึงได้เลิกล้มกิจการไปเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๓๕

ต่อมาได้มีกลุ่มนักลงทุนชาวเดนมาร์กอีกกลุ่มหนึ่ง เข้ามารับช่วงสัมปทานดำเนินการต่อ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ทางบริษัทได้พัฒนาระบบการเดินรถรางใหม่ โดยเปลี่ยนจากแรงม้ามาเป็นพลังงานไฟฟ้าแทน เมื่อแรกที่นำรถรางไฟฟ้ามาแทนนั้น คนไทยและชาวต่างชาติพากันตื่นตระหนก ไม่มีใครกล้าขึ้นรถรางเพราะกลัวว่าไฟฟ้าจะดูด เพราะเห็นกระแสไฟฟ้าแลบอยู่บนเสากระโดงหลังคารถ พวกฝรั่งจึงต้องขึ้นรถรางให้ดูเป็นตัวอย่างหลายวัน คนไทยจึงยอมขึ้นใช้บริการ 

บริษัทชาวเดนมาร์กกลุ่มนี้ได้ดำเนินกิจการรถราง โดยวิ่งในเส้นทางสายหลักเมืองและสายสามเสนมาโดยตลอด จนกระทั่งในวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๔๔๔ จึงได้โอนสัมปทานการเดินรถทั้งสองสายดังกล่าวให้แก่บริษัทการไฟฟ้าสยาม ทุนจำกัด ทำการเดินรถให้บริการต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้มีกลุ่มคนไทยซึ่งประกอบไปด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์และเหล่าขุนนางในราชสำนักจำนวนหนึ่ง เข้าหุ้นร่วมกันจัดตั้งบริษัทรถรางขึ้นในกรุงเทพฯ ในนาม บริษัท รถรางไทย ทุนจำกัด หรือที่เรียกกันว่า รถรางสายแดง โดยที่ตัวรถทาสีแดงทั้งคันเป็นสัญลักษณ์ นับว่าเป็นบริษัทรถรางแห่งแรกที่ดำเนินกิจการโดยคนไทย 

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ บริษัทการไฟฟ้าสยาม ทุนจำกัด ได้รวมกิจการกับ บริษัท รถรางไทย ทุนจำกัด หรือ รถรางสายสีแดง เป็นอันหนึ่ง ภายใต้การบริหารงานของ กลุ่มบริษัท การไฟฟ้าสยาม และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๒ และในที่สุดสัมปทานการเดินรถรางของบริษัทไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๒ ทางรัฐบาลจึงได้รับเข้าดำเนินการเองต่อมาในนามของ บริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด โดยสังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๓ เป็นต้นมา นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดก็มีรถรางให้บริการรับส่งผู้โดยสารอยู่เพียงแห่งเดียวคือที่จังหวัดสระบุรี ชื่อว่า บริษัทรถรางสายพระพุทธบาท ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ สืบมาจนเลิกไปในที่สุด 

สำหรับรถรางในกรุงเทพฯนั้น ได้เปิดกิจการต่อมาจนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รถยนต์ในกรุงเทพฯเริ่มมากขึ้น บทบาทและความสำคัญของรถรางเริ่มน้อยลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีรถยนต์โดยสารรับจ้างซึ่งให้ความสะดวกรวดเร็วกว่าเข้ามาแทนที่ เช่น รถยนต์ แท็กซี่ และรถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวกรุงมาเนิ่นนาน รถรางจึงถูกมองข้ามไปอย่างไม่ไยดี และในที่สุดต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ประกอบกับการจราจรในกรุงเทพฯเริ่มแออัดมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงได้เริ่มทยอยเลิกล้มกิจการรถรางในแต่ละสาย จวบจนกระทั่ง เหลือวิ่งเพียงสายเดียวสุดท้ายคือ สายรอบเมือง 

ในที่สุดก็ถึงจุดอวสานของรถรางไทยเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ รวมระยะเวลาที่รถรางโลดแล่นอยู่บนแผ่นดินสยามนับเป็นเวลานานถึง ๘๐ ปี คงเหลือเพียงตำนานเล่าขานในหน้าประวัติศาสตร์ยวดยานพาหนะของไทยเท่านั้น

 

คอมเม้นต์
กรุณา "เข้าสู่ระบบ" ก่อนคอมเม้นต์
ผู้เขียน
บล็อกโปรด